กบฏชาวนา Elementary Aspects of Peasant Insurgency in Colonial India รณชิต คูหา / Illuminations Edition

คุณสมบัติสินค้า:

SKU : 9786168215272

มูลฐานจิตสำนึกในอินเดียยุคอาณานิคม

Share

กลุ่มศึกษาผู้อยู่ในสถานะรอง (SSC: Subaltern Studies Collective หรือ SSG: Subaltern Studies Group) มีบทบาทโดดเด่นขึ้นมาในทศวรรษ 1980 ในฐานะของการศึกษาประวัติศาสตร์สังคมการเมืองภายใต้การปกครองอาณานิคม โดยเฉพาะในบริบทของอินเดียช่วงที่อังกฤษครอบงำ รวมถึงการวิพากษ์มรดกจากจักรวรรดินิยมที่ดำรงอยู่ในรูปแบบต่างๆ ทั้งกรอบวิธีคิด โลกทัศน์ แบบแผนการกระทำ โครงสร้างการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งมีอยู่แม้ในหมู่นักชาตินิยมที่ตามประวัติศาสตร์ขนบทั่วไปมักจะพรรณนาว่าเป็นขั้วตรงข้ามกับเจ้าอาณานิคม เป็นขบวนการอันหาญกล้าในการต่อสู้ท้าทายจนกระทั่งโค่นล้มเจ้าอาณานิคมได้ในที่สุด. ท่าทีวิพากษ์ของกลุ่มศึกษาฯ เช่นนี้เท่ากับเป็นการตั้งคำถามต่อระบอบของชาติต่างๆ ในเอเชียใต้ที่เกิดขึ้นภายหลังการปกครองอาณานิคมอย่างเป็นทางการสิ้นสุดไปแล้วด้วยเช่นกัน.

หากจะสรุปใจความอย่างสั้นที่สุด การวิพากษ์แบบ SSC นั้นทั้งตั้งคำถามต่อเจ้าจักรวรรดินิยมและไม่เชื่อใจ “ผู้ปลดปล่อย” หรือนักชาตินิยมทั้งหลายพอๆ กันเนื่องจากทั้งคู่เป็นชนชั้นนำไม่ต่างกัน. ในบทความเปิดวารสาร Subaltern Studies ฉบับแรก (1982) รานาจิต คูฮา (Ranajit Guha) ผู้เป็นบรรณาธิการและแรงผลักสำคัญของกลุ่มศึกษาฯ ประกาศว่า “เป็นเวลานานแล้วที่ประวัติศาสตร์นิพนธ์เกี่ยวกับชาตินิยมอินเดียถูกครอบงำโดยชนชั้นนำนิยม ทั้งความเป็นชนชั้นนำแบบเจ้าอาณานิคมและชนชั้นนำแบบกระฎุมพี-ชาตินิยม. ทั้งสองมีจุดเริ่มจากการเป็นผลิตผลของการปกครองอินเดียโดยอังกฤษ”. และชัดเจนว่าสิ่งที่ถูกขจัดออกไปจากประวัติศาสตร์นิพนธ์ชนชั้นนำนิยมเช่นนี้ก็คือการเมืองของมวลชน ซึ่งต้องได้รับการรื้อฟื้นและจุติกำเนิดขึ้นมาใหม่. นี่คือจิตวิญญาณตั้งต้นของ Subaltern Studies.

ในทัศนะของ SSC ชาวนามัก “ตกขบวนประวัติศาสตร์” กล่าวคือมักไม่มีที่ทางในประวัติศาสตร์กระแสหลัก ทั้งแบบที่เขียนโดยอังกฤษหรือโดยนักชาตินิยม (ที่คูฮาระบุว่าล้วนเป็น “ประวัติศาสตร์นิพนธ์ชนชั้นนำนิยม”). และถึงแม้หากมีที่ทางปรากฏตัวขึ้นในประวัติศาสตร์นิพนธ์เหล่านี้ก็มักจะถูกจัดที่ทางให้ราวกับเป็นตัวประกอบ เช่น เจ้าอาณานิคมอังกฤษก็มักจะมองชาวนาว่าซื่อไร้เดียงสาและการที่ชาวนาลุกฮือขึ้นมานั้นก็เป็นเพียงเรื่องไร้สติที่เกิดจากการยั่วยุก่อกวนของคนเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้น.

ส่วนประวัติศาสตร์นิพนธ์แบบชาตินิยมก็อาจจะสร้างชาวนาให้เป็นวีรสตรี/บุรุษ โดยอาจจะยกย่องเชิดชูว่าเป็น “ผู้มาก่อนกาล” นั่นคือก่อนกาลเวลาแห่งชาติอินเดีย. แต่ความหมายที่ซ่อนอยู่ในการยกยอเช่นนี้ก็คือว่า การกระทำต่างๆ ยุทธศาสตร์ ปฏิบัติการและความรู้สึกอันแรงกล้าของชาวนาทั้งหมดนั้นเป็นเพียง “อารัมภบท” หรือ “การเบิกโรง” ของขบวนการอันยิ่งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นตามมา นั่นคือขบวนการชาตินิยมซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่องเล่าแบบนี้โดยไม่ต้องสงสัย.

ทว่าสิ่งที่ทำให้ SSC โด่งดังขึ้นมาคือการวิพากษ์ประวัติศาสตร์นิพนธ์อีกประเภทหนึ่งอย่างเผ็ดร้อน นั่นคือประวัติศาสตร์นิพนธ์มาร์กซิสต์ในรูปแบบที่เป็นที่นิยมในอินเดีย เฉกเช่นเดียวกับหลายที่ทั่วโลกช่วงศตวรรษที่ 20. ในหนังสือ Elementary Aspects คูฮาวิจารณ์เอริค ฮอบสบอม (Eric Hobsbawm) นักประวัติศาสตร์มาร์กซิสต์ชื่อดังชาวอังกฤษในประเด็นที่ว่าฝ่ายหลังอธิบายการลุกฮือของชาวนาว่ามีลักษณะ “ก่อนการเมือง (pre-political)” นั่นคือฮอบสบอมมองว่า “ความไม่พอใจของชาวนานั้นมีรูปแบบดั้งเดิมที่แทบจะปราศจากอุดมการณ์ การจัดตั้งองค์กรหรือโครงการอย่างชัดแจ้งโดยสิ้นเชิง” และว่า “กองโจร [ของชาวนา] นั้นเป็นปรากฏการณ์ก่อนการเมือง และพละกำลังของกองโจรนั้นก็เป็นสัดส่วนผกผันกับพละกำลังของการปฏิวัติที่มีการจัดตั้งและสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสม์”.

โดยรวมๆ “กลุ่มคนก่อนการเมืองทั้งหลายนั้น” คือ “คนที่ยังไม่สามารถหรือเพียงเพิ่งริเริ่มพบภาษาที่ใช้เฉพาะเพื่อการแสดงออกซึ่งความต้องการของตนต่อโลก”. มุมมองเช่นนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ฮอบสบอม แต่รวมไปถึงฝ่ายซ้ายในอินเดียด้วย โดยมักใช้เกณฑ์พัฒนาการของจิตสำนึกทางการเมืองเชิงเดี่ยวและเป็นเส้นตรง กล่าวคือจากลักษณะ “ก่อนการเมือง” ของกองโจร การลุกฮือของชาวนา “ผีบุญ” ฯลฯ ไปสู่ขบวนการ “การเมือง” สมัยใหม่ อันเป็นอคติฝังแน่นในการมองประวัติศาสตร์ของมาร์กซิสต์จำนวนมาก (และอาจกล่าวได้ว่าของมาร์กซ์เองที่รับเอาอิทธิพลของวิวัฒนาการนิยม (evolutionism) ศตวรรษที่ 19 มาไม่น้อยด้วย) มาใช้ตัดสินขบวนการชาวนาให้ตกขบวนประวัติศาสตร์ไปเพราะไม่ถูกตรงต้องตามนิยาม “ชนชั้นกรรมาชีพ” หรือ “การมีจิตสำนึกทางชนชั้น”.

ในแง่นี้ประวัติศาสตร์มาร์กซิสต์ที่ดูจะเป็นขั้วตรงข้ามกับประวัติศาสตร์นิพนธ์ชนชั้นนำนิยม 2 แบบข้างต้นก็ไม่ได้แตกต่างจากสิ่งที่มันตั้งเป้าจะวิพากษ์นัก. ในความเห็นของคูฮา ฝ่ายซ้ายแบบนี้มี “วิธีการมองที่เป็นชนชั้นนำนิยมไม่ต่างกัน” เพราะเห็นขบวนการชาวนาว่าเป็นเพียงแค่ “ช่วงก่อนประวัติศาสตร์ [pre-history] ของขบวนการสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ในอนุทวีป” ไม่ต่างจากการมองชาวนาว่าเป็น “ผู้มาก่อนกาล” ของขบวนการชาตินิยมในขนบประวัติศาสตร์กระฎุมพี-ชาตินิยม. วิธีการศึกษาของ SSC ต้องการสวนกระแสแนวโน้มเหล่านี้โดยยกเวทีประวัติศาสตร์ให้กับความเคลื่อนไหวและการลุกฮือของผู้คนสถานะรอง อันเป็นห้วงเวลาของปฏิบัติการทางการเมืองในตัวมันเองและไม่ได้เป็นเพียงอารัมภบทให้กับใคร
บางส่วนจากบทความ 'งานศึกษาผู้อยู่ในสถานะรอง (Subaltern Studies): ทบทวนประวัติศาสตร์นิพนธ์และมวลชนผู้เคลื่อนไหว' ของ สิงห์ สุวรรณกิจ

จำนวน : 616 หน้า ปกอ่อน
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้