ในวัยที่กำลังย่างเข้า ๘๘ ปีของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หนังสือเล่มนี้ '๒๔๗๕ อภิวัฒน์สยาม เปลี่ยนแปลงการปกครองที่ยังไม่เสร็จ' เป็นหมุดหมายบั้นปลาย ที่ถูกปักลงไว้ให้สังคมและประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับชนชั้นบน ๆ เพื่อจักได้ตระหนักว่า
'อะไรที่ไม่เคยคิดว่าจะได้เห็น ก็ได้เห็นกันแล้ว และอะไรที่เคยเห็น ๆ กันมาชั่วชีวิต ก็อาจจะไม่ได้เห็นอีกต่อไป'
ถ้าหากไม่ปฏิรูป ไม่ปรองดอง ไม่สมานฉันท์กันและกันเพราะอย่างไรเสีย 'ความเปลี่ยนแปลง'ได้เดินทางมาถึงสยามประเทศไทยแล้ว
หนังสือเล่มนี้ เป็นผลงานของการคิด การเขียน การอ่าน และเป็น 'มุขปาฐะ'นี่ไม่ใช่หนังสือวิชาการ หรือวิทยานิพนธ์นี่เป็นเสมือน 'พงศาวดารกระซิบ' ที่คนที่อยู่ในวงใน ในแวดวงของสังคมระดับบน ๆ ที่เป็น 'กากีนั๊ง' กันและกันแต่ถูกนำเอามาเปิดเผยในวงกว้างที่สาธารณชนทั่วไปจะได้เปิดหูเปิดตา
และนักวิชาการรุ่นนี้และรุ่นหน้าจะต้องทำงานหนัก ที่จะต้องค้นคว้าหาหลักฐานมาพิสูจน์ว่าเรื่องที่สุลักษณ์เล่าให้เราฟังนี้จริงหรือเท็จทางประวัติศาสตร์มากน้อยแค่ไหน
ครับ บทบาทในการเป็น 'ห้ามล้อหรือกันชน'หรือ 'ปัญญาชนสาธารณะ' ของสุลักษณ์จะเป็นที่ตระหนักของสังคมไทยหรือไม่จะประสบความสำเร็จหรือไม่กระแสธารประวัติศาสตร์และเวลาเท่านั้น ที่จะตอบเราได้
แต่ในสภาพการณ์ของความเคลือบเคลิ้มไปกับโลกาภิวัตน์กับเศรษฐกิจเสรีนิยม ลัทธิการพัฒนาสุดขั้ว กับอวิชชาและการบูชาอำนาจและเงินตราเป็นพระเจ้ารวมทั้งความแตกแยกในสังคมไทยกับวิกฤตศรัทธาอย่างไม่เคยปรากฏรุนแรงอย่างมากใน 2 ทศวรรษที่ผ่านมานี้นั้น
ก็น่าเชื่อว่า ความฝันความต้องการของสุลักษณ์ที่จะให้สังคมนี้ฝ่าข้าม'วิกฤตและความรุนแรง' ไปได้ด้วยดีและด้วย 'สันติประชาธรรม' ก็ยังอยู่ไกลแสนไกล
'คำติงและคำเตือน' ของสุลักษณ์ก็คงเพียงทำให้เราบางคนตระหนักในปัญหาที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ได้บ้าง
และผมก็เชื่ออย่างที่สุลักษณ์เชื่อว่า สถาบันใด (โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันกษัตริย์ ที่สุลักษณ์ให้ความสนใจและให้ความสำคัญเป็นพิเศษ)ที่คงทนต่อคำวิพากษ์วิจารณ์นั่นแหละสถาบันนั้น จะยั่งยืนอยู่ต่อไปตราบนานแสนนานตราบเท่าที่ได้สำนึกถึงความจำเป็นที่จะต้อง “ปฏิรูป” ให้มีความเป็นสมัยใหม่ สากลเฉกเช่น สหราชอาณาจักร กับยุโรปตะวันตก และญี่ปุ่นให้เป็นไปตามคำเรียกร้องของเยาวชน คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้
แล้วเผชิญหน้ากับ 'การปฏิวัติรุนแรง'ดังเช่นจีน รัสเซีย เยอรมนี ออตโตมัน ออสเตรีย/ฮังการี และยุโรปตะวันออก
และนี่ก็คือปัญหาที่คนไทยเรา กำลังเผชิญหน้ากับ 'ทศวรรษใหม่ และรัชสมัยใหม่ ในปัจจุบัน'
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
บางส่วนจากคำนำหนังสือ
'๒๔๗๕ อภิวัฒน์สยาม เปลี่ยนแปลงการปกครองที่ยังไม่เสร็จ'