หนึ่งปี•แสง In Darkness We Light - ศิลปะบำบัด อิสรภาพของการค้นพบความมืด สี และแสงภายใน

Last updated: 29 มิ.ย. 2563  | 

หนึ่งปี•แสง In Darkness We Light  - ศิลปะบำบัด อิสรภาพของการค้นพบความมืด สี และแสงภายใน

" ฤดูหนาว ป่าเปลี่ยนสี
การเปลี่ยนแปลงความรู้สึกในใจของคนก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน
เพียงแต่ว่าผู้คนที่ขาดพลังชีวิต สีในใจนั้นเปลี่ยนผันยากกว่า "

 

 

 

ศิลปะบำบัดในแนวทางมนุษยปรัชญา เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นในต้นศตวรรษที่ 20 ที่อธิบายว่า
จิตวิญญาณ ธาตุต่างๆ ในโลก แสง สี และพลังแห่งชีวิต เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงเกื้อกูลกัน
ความรู้อายุร้อยกว่าปีนี้ ส่งต่อในหมู่ศิลปิน จิตรกรและแพทย์ ในการเยียวยาโลกด้านในของผู้คน


ไม่ว่าในผู้ใหญ่หรือเด็ก เราหลายคนตัดขาดตัวเองจากโลก และตัวของเราเอง
เป็นเด็กๆ ที่ทิ้งความร่าเริงและพลังกายใจ เป็นผู้ใหญ่ที่ทิ้งโลกรอบข้างและความรู้สึกตัว
เราอาจเหนื่อย เบื่อ เครียด หรือเศร้า แต่ไม่รู้เพราะอะไร หรือจะทำอย่างไร
ในแต่ละวัน เราเจอกับกิจกรรมและความเปลี่ยนแปลงหลากหลายที่เกิดขึ้นรอบตัว
เราได้อยู่กับตัวเองตรงนั้นไหม มีความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับโลกด้านใน
อย่างจิตใจ จิตวิญญาณที่เราไม่ทันมองบ้างรึเปล่า


เรื่องราวของนักศิลปะหนุ่ม จะพาเราออกเดินทางผ่านฤดูกาลแห่งชีวิต
มองเห็นสีสันบนฟ้า มองเห็นแสงที่อยู่ใต้พื้นดิน ลองทำงานกับแสง และสี
ละสายตาช้าๆ ไปบนหน้ากระดาษ


รับรู้ถึงตัวเราที่อยู่ตรงนี้ แล้วพลิกหน้ากระดาษ ที่อาจช่วยเปลี่ยนผ่านฤดูในใจ

 

 

 “...สีบางสีไม่สามารถถูกคุมขังได้...”

ก่อนจะมาเป็นหนังสือ ‘หนึ่งปี•แสง’ มีประสบการณ์เรื่องนึงเคยทำให้เราเห็นว่า
ทำไมศิลปะ ถึงสร้าง ‘In darkness we light’


ครั้งแรกที่เราได้รู้จัก และได้ลองสัมผัสกับสิ่งที่เรียกว่าศิลปะบำบัด
คือเมื่อหลายปีก่อน ในสตูดิโอที่มองไปเห็นดอยหลวงเชียงดาว
ในบรรยากาศกว้าง อุ่น และเย็นสบายไปพร้อมกัน


พร้อมผู้เข้าร่วมอีกสิบกว่าคน ครูมอสอ่านบทกวีสั้นๆ แนะนำถึงขั้นตอน
เอาตัวกับใจมาอยู่ด้วยกัน มีกระดาษ 1 แผ่น และชาโคล 1 แท่งตรงหน้า
มือแตะลงกระดาษ จากแตะ เป็นสัมผัส จากสัมผัส เป็นวางแนบสนิท


มือของเรา กระดาษแผ่นใหญ่ สีดำเทา และการเคลื่อนไหว
ค่อยๆกลายเป็นสิ่งเดียวกับโลกภายใน แสงสว่างค่อยๆถูกสร้างขึ้นทั้งภายนอกและในตัวเรา


เป็นชั่วขณะเวลา ที่เรารับรู้ทุกสิ่งตรงหน้าอย่างละเอียดลออ และมันได้สร้างสิ่งที่เรียกว่า
Magic Moment ขึ้นมา เป็นความรู้สึกของการโอบอุ้ม ดูแล เปิดรับ และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของตัวเอง
ความมหัศจรรย์มากก็คือ แม้เวลาผ่านไปนานแล้ว
เมื่อนึกถึงการเคลื่อนไหวและแสงสีขึ้นมา ความรู้สึกอุ่นนั้นก็ยังปรากฏภายใน


จากแบบฝึกหัดวันนั้น เราได้เจอ ได้คุย กับครูมอสเป็นระยะๆ จนได้ชวนครูมอสมาจัดวงคุยที่ร้าน
และเวิร์กชอปสั้นๆ ครูมอสเล่าว่า กำลังอยากเขียนหนังสือที่ถอดเอาประสบการณ์
เป็นเบื้องหลังความคิดความรู้สึกของการทำงานกับสี แสง และความมืด
คือศิลปะในแนวทางมนุษยปรัชญามาเล่า ว่าแต่ละเฉดโทน ที่มันผ่าน ปรากฏ ในชีวิตเรา
ทำงานกับเราแบบไหน ครูมอสพบ เห็น รู้สึกกับมันอย่างไร
เมื่อนำศิลปะมาทำงานกับผู้คนจำนวนมากในเวลามากกว่า 10 ปีที่ผ่านมา


ต้นฉบับของครูมอสสั้นๆ แต่ละคำ แต่ละเรื่องราว และสีสัน
ทำให้เรามองเห็นความเป็นไปได้มากมาย ที่ใจ ความรู้สึก และความคิดเราจะเคลื่อนไปได้
เรารู้สึกใจเต้น รู้สึกร้อน รู้สึกเย็น รู้สึกอุ่น รู้สึกถึงความรัก รู้สึกมหัศจรรย์ รู้สึกสงสัยใคร่รู้ รู้สึกผ่อนคลาย
รู้สึกถึงการวาง และอีกหลายคิดหลายรู้สึกจากการอ่านและเห็น


พร้อมกับประสบการณ์จากนักศิลปะบำบัด ครูมอสก็เชิญชวนเราผู้อ่าน
ให้ลองหยิบจับทำงานดูด้วย


“เมื่อนักศิลปะบำบัดได้สัมผัสความรู้สึกของรูปทรงและสี
เขาจะมีความรู้สึกถึงพลังชีวิตของสีอย่างง่ายๆ ว่า สีเคลื่อนที่หรือไม่
ถ้าหากเคลื่อน สีนั้นเคลื่อนในทิศทางอย่างไร
สีให้ความรู้สึกอบอุ่นหรือเยือกเย็น


“คำถามแบบนี้ไม่ได้ใช้กระบวนการคิดตอบ
แต่ใช้ความรู้สึกที่เกิดจากการลงมือทำเป็นคำตอบ”


ครูมอสชอบมีหลายๆประโยคมาให้เราแปลกใจ และต้องหยุด ลองคิดใหม่ รู้สึกใหม่


ครูมอสเล่าถึงการเรียน และฝึกเป็นนักศิลปะบำบัดที่เยอรมนี 8 ปี
จึงกลับมาทำงานในประเทศไทย มาเป็นจิตรกร นักศิลปะบำบัด
และผู้ก่อตั้งสตูดิโอศิลปะด้านใน (๗ Arts Inner Place) ในการทำบำบัด ครูมอสเล่าว่า


“เห็นรายละเอียดความเป็นเขาต่างๆ แล้วเราหาวิธีนำพาให้เขาเข้ามาสู่ความสมดุล
นักบำบัดต้องอยู่เพื่อที่จะรู้ว่าเขาเป็นยังไง เราจะเห็นว่า สีมีพลังชีวิตบางอย่าง
ที่ทำให้เราได้เคลื่อนไปด้วย ในฐานะนักศิลปะบำบัด เราพาขยับต่อจากสิ่งที่เขาทำ
ให้เขามีสุขภาวะที่ดีขึ้น มันมีสีที่เงียบ เหงา หรือเศร้ามาก สีเหล่านี้ในทางงานบำบัด
มีทั้งที่บวก และที่พึงสังเกต ถ้าเขามีสภาวะนั้นอยู่ในตัว และมีสีเหล่านั้นอยู่ในจิตวิญญาณมาก
เราจะพาเขาออกมาได้ยังไง เราให้เขาวาดสิ่งที่เขาเป็น แต่เราต้องค่อยๆ เพิ่มความอุ่นในจิตใจให้เขาด้วย”



หรือประโยคตอนวง Colour Talk ที่ร้าน Fathom Bookspace

 “...สีบางสีไม่สามารถถูกคุมขังได้...”

ในหนังสือ ‘หนึ่งปี•แสง’ พยายามเล่าสิ่งเหล่านี้ ออกมาให้ลองสัมผัสให้ได้มากที่สุด
ขยายภาพว่าเราทุกคนมีศักยภาพที่จะ ‘light’ ‘In darkness’


 
หนังสือ หนึ่งปี•แสง In darkness we light พูดถึงการเปลี่ยนผันของแสง สี และความมืด
ที่คู่ไปกับการเปลี่ยนโลกด้านในของมนุษย์

 

 

ในการออกแบบทำหนังสือ เราดึงบรรยากาศของการผ่านห้วงเวลา
และการอยู่กับการมืด จวบจนสว่าง มาอยู่ในเล่มไว้ด้วย


ขาวดำ ไม่ใช่สีของความสว่างและมืด เราดึงสีความมืดและความสว่างของท้องฟ้า
มาให้ผู้อ่านได้ค่อยๆเปิดหน้า


ในแนวคิดมนุษยปรัชญา ลีแอน โคลัวร์ เดอบัวร์ จิตรกรและนักศิลปะบำบัดชาวอังกฤษ
ได้อธิบายถึงวงล้อของสีในธรรมชาติไว้ 7 สีหลัก


ตั้งแต่สีที่อยู่หลังแสง หรือที่เรียกว่า Colour behind the light ซึ่งอาจจะพอพูดง่ายๆ ว่า
เป็นโทนสีของกลางคืน เมื่อมีแสง สีเหล่านี้ก็หายไปจากท้องฟ้า และ สีหน้าแสง
ไล่ตั้งแต่มาเจนตา ไปจนถึงสีโทนเหลือง ซึ่งเป็นสีของกลางวัน


วงล้อของสี ปรากฏอยู่ใน 2 ระดับ คือสีที่เราสามารถมองเห็น
และสีสันที่อยู่ในโลกภายในของเรา


• Violet

• Indigo

• Ultramarine

• Cobalt

• Viridian

• Yellow Green

• Lemon Yellow

• Gold Yellow (cadmium yellow)

ลุ้นว่าเมื่อผู้อ่านได้จับหนังสือของตัวเอง
การพลิกหน้าเหล่านี้จะทำงานบางอย่างกับ ‘ความรู้สึก’ ของทุกคน

 


นุ่มนวล อ่อนโยน ละเอียดละออ
ทุกหน้า ทุกรูป ทุกสี ประณีตในความคิด
เรื่องราวสั้นๆ แต่สะท้อนหัวใจผู้เขียน
อ่านแล้วหายใจช้าลง ทบทวนจิตใจ
อยากวาดภาพ อยากป้ายสี
อยากวิ่งเล่นบนหน้ากระดาษ
เห็นสีสันในโลกนี้แตกต่างไปจากเดิม
และแน่นอนว่า เห็นโลกใบเดิมต่างไป

 -  นิ้วกลม  -

  Dec 2019

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้