ศาสตร์ อศาสตร์ เข้ามาข้างนอก ออกไปข้างใน / จันทนี เจริญศรี บรรณาธิการ / Paragraph Publishing

คุณสมบัติสินค้า:

SKU : 9786164068810

ทบทวนความหมายของสมัยใหม่ และศาสตร์แห่งการศึกษาสมัยใหม่ ผ่านข้อถกเถียงทางประวัติศาสตร์ ปรัชญา มนุษยศาสตร์ ไปจนถึง อ-ศาสตร์

Share

หนังสือเล่มนี้เจตนาจะทบทวนข้อท้าทายร่วมสมัยที่มีต่อสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา รวมถึงพิจารณาแนวโน้มใหม่ๆ ในการทำงานทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา โดยเน้นไปที่ข้อท้าทายที่เกิดจากลักษณะหลัก 2 ประการของศาสตร์สาขานี้ คือ ความเป็นศาสตร์สมัยใหม่ (modern science) และความเป็นศาสตร์ที่ศึกษาภาวะสมัยใหม่ (science of modernity) บทความในเล่มสนใจสืบสาวผลพวงของภววิทยาแบบสมัยใหม่ที่แบ่งแยกโลกของธรรมชาติออกจากโลกของความหมายอันนำไปสู่การแบ่งแยกศาสตร์ (science) ออกจากอศาสตร์ (non-science) ซึ่งในที่นี้ ศาสตร์จะใช้หมายถึงวิทยาศาสตร์ ส่วนอศาสตร์หมายถึงทั้งหมดทั้งปวงที่อยู่นอกขอบเขตความเป็นวิทยาศาสตร์ เช่น ปรัชญา มนุษยศาสตร์ ตลอดจนความเชื่อทางศาสนา ขนบประเพณี และอุดมการณ์ต่างๆ

 

ศาสตร์สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาแม้จะมีประเด็นศึกษาเน้นไปที่โลกของความหมายมากกว่าโลกธรรมชาติ แต่ในเชิงวิธีหาความรู้กลับตกอยู่ในการถกเถียงอย่างยาวนานระหว่างความเป็น ศาสตร์หรืออศาสตร์ ซึ่งในทางปฏิบัติมักนำไปสู่การแยกขั้วทางความคิดและแยกค่ายทางการทำงาน การแบ่งแยกที่ว่านี้ถูกตอกย้ำให้แบ่งแยกกันมากยิ่งขึ้นผ่านกระบวนการจัด ระเบียบทางสังคมในโลกของวงวิชาการที่เน้นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (academic professionalization) การจัดระเบียบทางสังคมเช่นนี้ แม้จะเอื้อต่อการสร้างความก้าวหน้าในสาขาวิชา แต่ก็ตีกรอบจำกัดในการรับรู้และศึกษาโลก ความตระหนักในข้อจำกัดดังกล่าวทำให้เมื่อไม่นานมานี้มีข้อเรียกร้องเรื่องสห วิทยาการ พหุวิทยาการ หรือข้ามพ้นวิทยาการ (interdisciplinary, multidisciplinary, or transdisciplinary) แต่ต่อมาบทเรียนเชิงปฏิบัติก็เริ่มชี้ให้เห็นว่า นี่มิใช่สิ่งที่ทำได้โดยง่าย เพราะทุกศาสตร์ล้วนแล้วแต่ตั้งอยู่บนฐานคติมากมายที่ล้วนเป็นอุปสรรคและ บดบังการเข้าใจโลกจากฐานคิดแบบอื่น พัฒนาการเช่นที่ว่ามานี้เองที่นำไปสู่ข้อเรียกร้องที่ถอนรากถอนโคนยิ่งกว่า เดิม นั่นก็คือการเสนอให้มีการกลับมาทบทวนภววิทยาของยุคสมัยใหม่เสียใหม่ และภววิทยาพื้นฐานที่สุดของศาสตร์สมัยใหม่ก็คือ การแบ่งแยกโลกธรรมชาติออกจากโลกของความหมาย

 

….

กล่าวโดยสรุป การปรากฏของบทความใน ศาสตร์ อศาสตร์ เล่มนี้ เป็นการเล่นกับเปลือกโลกที่ซ้อนเหลื่อมกันของทั้งสาขาวิชา และเส้นแบ่ง ศาสตร์-อศาสตร์ ที่แยกโลกออกจากความรู้ โดยหวังว่าการก้าวข้ามเปลือกโลกจะสร้างความสั่นสะเทือนบางประการพร้อมๆ กับชี้ให้เห็นว่าโลกเคยเป็นผืนดินเดียวกันมาก่อน เส้นแบ่งต่างๆ ที่ปรากฏนี้หากจะพูดในภาษาแบบไวท์เฮ้ด ก็คงเป็นเพียง “อัตลักษณ์” ที่ปรากฏขึ้นในฐานะขณะหนึ่งและเป็นส่วนหนึ่งที่ไม่ได้แยกขาดจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ดำเนินไปอยู่ตลอด ข้าพเจ้าขอสรุปความนำนี้ด้วยถ้อยความของซิมเมล ผู้มีชีวิตอยู่โดยเหลื่อมเวลากับเดอร์ไคม์ ทาร์ด และไวท์เฮ้ด อันเป็นช่วงเวลาที่สังคมวิทยาในฐานะ ศาสตร์-อศาสตร์ สมัยใหม่ทะยานขึ้นสู่ความเป็นวิทยาการแขนงหนึ่ง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้